1. ชื่อหลักสูตร
ภาษาไทย หลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาเวชปฏิบัติครอบครัว
ภาษาอังกฤษ Program of Nursing Specialty in Family Nursing Practitioner

2. ชื่อประกาศนียบัตร
ภาษาไทย ประกาศนียบัตรการพยาบาลเฉพาะทางสาขาเวชปฏิบัติครอบครัว
ภาษาอังกฤษ Certificate in Nursing Specialty in Family Nursing Practitioner
ชื่อย่อ ป.การพยาบาลเฉพาะทางทาง สาขาการพยาบาลเวชปฏิบัติครอบครัว

3. หน่วยงานที่รับผิดชอบ

วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี แพร่ คณะพยาบาลศาสตร์ สถาบันพระบรมราชชนนก

4. หลักการและเหตุผล
นโยบายการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิให้มีคุณภาพและมีความเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการสุขภาพ โดยการขับเคลื่อนการดูแลสุขภาพแบบบูรณาการ ผสมผสานการส่งเสริม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟูสุขภาพ เน้นการทำงานเป็นทีม และการจัดระบบสนับสนุน ประสานเชื่อมโยงการดูแลสุขภาพทั้งภายในและภายนอกเครือข่าย เพื่อให้การดูแลสุขภาพประชาชนมีประสิทธิภาพ เหมาะสมตามกระแสการเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ยังมีการจัดทำแผนพัฒนาบุคลากรสุขภาพแบบสหสาขาวิชาชีพ ปรับเปลี่ยนกระบวนคิดและวิธีการทำงานในรูปแบบของ “ทีมหมอครอบครัว (family care team)” โดยกำหนดโครงสร้างทีมหมอครอบครัวใน 3 ระดับ คือ ระดับอำเภอ ระดับตำบล และระดับชุมชน/หมู่บ้าน เพื่อร่วมกับขับเคลื่อนระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิให้มีประสิทธิภาพ สามารถให้การดูแลสุขภาพแก่ประชาชนในทุกครอบครัว ทุกกลุ่มวัย มีระบบการดูแลระยะยาวสำหรับประชาชนที่ต้องการการดูแลต่อเนื่องที่บ้าน (home based long term care) และมีระบบการรับ-ส่ง ต่อประสานในทุกระดับแบบครบวงจร อันเป็นการสร้างหลักประกันแก่ประชาชนทุกคนว่าจะสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างเท่าเทียม
พยาบาลเวชปฏิบัติครอบครัว (family nurse practitioner) เป็นส่วนหนึ่งของทีมสหสาขาวิชาชีพที่ร่วมกันให้บริการสุขภาพ ถือเป็นบุคลากรสำคัญในทีมหมอครอบครัวในระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ ด้วยความรู้ความสามารถ ทักษะและความชำนาญที่มี พยาบาลเวชปฏิบัติครอบครัวมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมสุขภาพ และการสนับสนุนให้ประชาชนมีความรับผิดชอบในการดูแลสุขภาพและการป้องกันโรค และการพัฒนาคุณภาพชีวิต นอกจากนี้ในฐานะพยาบาลเวชปฏิบัติทั่วไป พยาบาลเวชปฏิบัติครอบครัวจะสามาถให้การตรวจวินิจฉัย และรักษาโรคเบื้องต้น ในผู้ป่วยทั้งในภาวะวิกฤต ฉุกเฉิน เรื้อรัง ได้ และในฐานะพยาบาลนักจัดการดูแลสุขภาพครอบครัว (family health care manager) พยาบาลจะเป็นผู้วางแผนการดูแล จัดกระบวนการดูแล จัดระบบสนับสนุนการดูแล รวมถึงการประสานงานกับเครือข่ายการดูแลที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประชาชนได้รับดูแลที่ต่อเนื่อง ครบวงจร ทั้งในระดับชุมชน ระดับตำบล และระดับอำเภอ ตามเป้าหมายของการพัฒนาระบบสุขภาพ
วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี แพร่ คณะพยาบาลศาสตร์ สถาบันพระบรมราชชนก เห็นความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพพยาบาลวิชาชีพ ให้มีความรู้ ความสามารถ ในการดูแลสุขภาพแก่ประชาชนแบบบูรณาการและครบวงจร ตลอดจนมีศักยภาพในการจัดการระบบการดูแลสุขภาพในระดับปฐมภูมิ ทำงานร่วมกับทีมสหสาขาวิชาชีพภายใต้ทีมหมอครอบครัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน จึงได้เปิดการอบรมหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทางสาขาเวชปฏิบัติครอบครัว รุ่นที่ 1 ให้กับพยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่เขตบริการสุขภาพที่ 1 หรือจังหวัดใกล้เคียง เพื่อตอบสนองนโยบายการพัฒนาระบบบริการสุขภาพและการพัฒนาศักยภาพบุคลากรสุขภาพ ของกระทรวงสาธารณสุข

5. วัตถุประสงค์ของหลักสูตร
เพื่อให้ผู้เข้าอบรม มีสมรรถนะหลัก 2 ด้าน คือ

5.1 ด้านเวชปฏิบัติทั่วไป (การรักษาโรคเบื้องต้น) เพื่อให้ผู้เข้าอบรมมีศักยภาพในการประเมินภาวะสุขภาพอย่างครอบคลุมเพื่อการตัดสินใจทางคลินิก การตรวจวินิจฉัยแยกโรค การรักษาโรคเบื้องต้นในกลุ่มอาการต่างๆ ทั้งในระยะเฉียบพลันและกลุ่มโรคที่พบบ่อย ประเมินปัญหาที่ซับซ้อนจากการเปลี่ยนแปลงภาวะสุขภาพของผู้ป่วย สามารถวางแผนบูรณาการการดูแลและ/หรือส่งต่อผู้ป่วยอย่างเหมาะสม ปฏิบัติงานร่วมกับทีมสุขภาพที่เกี่ยวข้อง และประสานความร่วมมือในการดูแลสุขภาพแก่ประชาชนร่วมกัน รวมทั้งการใช้กลวิธีที่หลากหลายในการส่งเสริมให้ประชาชนสามารถพึ่งตนเองในการดูแลสุขภาพ
5.2 ด้านการจัดการดูแลสุขภาพครอบครัว เพื่อให้ผู้เข้าอบรมมีศักยภาพในการจัดการการดูแลครอบครัวโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน การประเมินและวางแผนจัดการดูแลครอบครัว การจัดการระบบข้อมูลเพื่อการพัฒนาคุณภาพการพยาบาลครอบครัว และพัฒนาคุณภาพการดูแลผู้ป่วยในชุมชน

6. โครงสร้างหลักสูตร
โครงสร้างประกอบด้วย 2 กลุ่มวิชา (9 รายวิชา) 22 หน่วยกิต ดังนี้
6.1 กลุ่มวิชาการพยาบาลเวชปฏิบัติทั่วไป (การรักษาโรคเบื้องต้น) จำนวน 7 รายวิชา ประกอบด้วย
6.1.1 วิชาระบบสุขภาพ และการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ 2 หน่วยกิต
6.1.2 วิชาการประเมินภาวะสุขภาพขั้นสูงและการตัดสินใจทางคลินิก 3 หน่วยกิต
6.1.3 วิชาการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลสำหรับพยาบาลเวชปฏิบัติ 2 หน่วยกิต
6.1.4 วิชาการรักษาโรคเบื้องต้นและการจัดการภาวะเร่งด่วน 3 หน่วยกิต
6.1.5 วิชาการจัดการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังในชุมชน 2 หน่วยกิต
6.1.6 วิชาปฏิบัติการรักษาโรคเบื้องต้นและการจัดการภาวะเร่งด่วน 4 หน่วยกิต
6.1.7 วิชาปฏิบัติการจัดการโรคเรื้อรังในชุมชน 2 หน่วยกิต
6.2 กลุ่มวิชาด้านการจัดการดูแลสุขภาพครอบครัว จำนวน 2 รายวิชา ประกอบด้วย
6.2.1 วิชาการจัดการดูแลสุขภาพครอบครัว 2 หน่วยกิต
6.2.2 วิชาปฏิบัติการจัดการดูแลสุขภาพครอบครัว 2 หน่วยกิต
(หลักสูตรนี้ได้รับหน่วยคะแนนการศึกษาต่อเนื่อง สาขาพยาบาลศาสตร์ 50 หน่วยคะแนน)

7. ระยะเวลาในการอบรม
อบรม 6 เดือน
เรียนทฤษฎีผ่านระบบออนไลน์ และ/หรือในชั้นเรียน ในวันศุกร์ – เสาร์ – อาทิตย์ เวลา 08.00 – 17.00 น. และฝึกภาคปฏิบัติแบบเต็มเวลา ณ แหล่งฝึกที่วิทยาลัยฯกำหนด

8. ค่าลงทะเบียน คนละ 50,000 บาท (ห้าหมื่นบาทถ้วน)

9. คุณสมบัติของผู้เข้ารับการอบรม ต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
9.1 เป็นพยาบาลวิชาชีพ ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการพยาบาลชั้นหนึ่ง หรือ การพยาบาลและการผดุงครรภ์ชั้นหนึ่ง จากสภาการพยาบาลที่ยังไม่หมดอายุ
9.2 มีประสบการณ์ในการปฏิบัติการพยาบาล ไม่น้อยกว่า 1 ปี
9.3 ได้รับการอนุมัติลาศึกษาต่อจากผู้บังคับบัญชา

10. เกณฑ์การประเมินผลและการสำเร็จการศึกษา
10.1 ผู้เข้ารับการฝึกอบรมต้องมีระยะเวลาการศึกษาอบรม ภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 จึงจะมีสิทธิ์เข้ารับการประเมินผล
10.2 ผู้เข้ารับการฝึกอบรมต้องผ่านการประเมินผลโดยได้ระดับขั้นเฉลี่ยทุกวิชาไม่น้อยกว่า 2.00 และเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรไม่น้อยกว่าระดับ 2.50 ตามระเบียบการวัดผล และประเมินผลตามเกณฑ์ของสภา การพยาบาล